วันศุกร์ที่ 5 กันยายน พ.ศ. 2551

สว.รับหลักการ 'ประชามติ' พันธมิตรฯยันไม่ร่วมมือ [5 ก.ย. 51 - 13:38]
การประชุมวุฒิสภา วันนี้ (5 ก.ย.) มีนายประสพสุข บุญเดช ประธานวุฒิสภา ทำหน้าที่ประธานการประชุม หลังที่ประชุมรับทราบพระบรมราชโองการฯ แต่งตั้งนายสามารถ แก้วมีชัย เป็นรองประธานสภาผู้แทนราษฎรแล้ว จากนั้นที่ประชุมได้พิจารณาเรื่องด่วน ร่าง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการออกเสียงประชามติ ซึ่งสภาผู้แทนราษฎรลงมติเห็นชอบแล้ว มีทั้ง 45 มาตรา

โดยนายประพันธ์ นัยโกวิท กรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ได้ชี้แจงอธิบายขั้นตอนตั้งแต่การออกกฎหมายจนถึงการทำประชามติ ต้องใช้เวลาดำเนินการอย่างน้อย 7 เดือน จึงจะแล้วเสร็จ และไม่สามารถออกเป็นพระราชกำหนด (พ.ร.ก.) ได้
ขณะที่สมาชิกวุฒิสภาบางส่วน เห็นว่า ร่าง พ.ร.บ. ฉบับนี้เป็นกฎหมายสำคัญ จึงไม่ควรเร่งพิจารณา และเกรงว่าจะใช้กฎหมายประชามติขัดกับรัฐธรรมนูญมาตรา 165 โดยนายสมชาย แสวงการ ส.ว.สรรหา อภิปรายว่า หากนายกรัฐมนตรีลาออก หรือยุบสภา สถานะของกฎหมายฉบับนี้จะเป็นอย่างไร ซึ่งนายประพันธ์ ชี้แจงว่า ขึ้นอยู่กับที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎร แต่ยืนยันว่าไม่สามารถทำประชามติถามความเห็นเกี่ยวกับตัวบุคคล หรือคณะบุคคลได้
ในที่สุด หลังจากใช้เวลาประมาณ 2 ชั่วโมง ในการพิจารณากฎหมายประชามติ ที่ประชุมวุฒิสภา ได้มีมติรับหลักการในวาระแรก ด้วยคะแนน 119 ต่อ 5 งดออกเสียง 2 คะแนน โดยตั้งคณะกรรมาธิการขึ้นมาศึกษา จำนวน 29 คน
บรรยากาศการชุมนุมที่ทำเนียบรัฐบาล เป็นวันที่ 11 ของพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย ไม่คึกคัก ส่วนหนึ่งมาจากสภาพอากาศที่ร้อน ขณะที่แกนนำที่ขึ้นเวทีปราศรัยมีเพียงนายสมศักดิ์ โกศัยสุข เท่านั้น โดยนายสมศักดิ์ ระบุว่าไม่กังวลที่มีการโอนอำนาจรัฐมนตรีให้นายกรัฐมนตรีดูแล ตาม พ.ร.ก.การบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน ชี้แสดงให้เห็นว่ารัฐบาลชุดนี้ไม่เป็นประชาธิปไตยและยังไม่ไว้วางใจทหาร
นอกจากนี้ นายสมศักดิ์ ยังยืนยันไม่ร่วมมือแม้รัฐบาลจะทำประชามติ เพราะเห็นว่าเป็นการขัดรัฐธรรมนูญ และเป็นการซื้อเวลาของรัฐบาล พร้อมจีรัฐเร่งหาคนร้ายที่ลอบยิงนักศึกษามหาวิทยาลัยรามคำแหง ได้รับบาดเจ็บ 2 ราย เมื่อคืนวานนี้ (4 ก.ย.) มาลงโทษโดยเร็ว



ที่มา : http://www.thairath.co.th/

ชื่อ นส.ธันย์ชนก ทรงนาศึก 5131601345
section 02 สำนักวิชานิติศาสตร์

1 ความคิดเห็น:

ไม่ระบุชื่อ กล่าวว่า...

รัฐบาลออกมาแ้ก้สถานะการณ์หลายรูปแบบซึ่งยังไม่ประสบผลสำเร็จ ไม่ว่าจะเป็นการใช้กำลังตำรวจสลายผู้ชุมนุม ฟ้องร้องและออกหมายจับแกนนำของพันธมิตรฯ สนับสนุนม็อบกลุ่มอื่นให้ต่อต้านพันธมิตรฯ ล้วนแล้วแต่ไม่ส่งผลให้กลุ่มพันธมิตรฯเกรงกลัว
แต่อย่างใด ทางออกของรัฐบาลอีกแนวทางหนึ่ง เร่งออก พรบ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการออกเสียงประชามติ ซึ่งตอนแรกว่าจะออกแบบสอบถามประชาชนแบบตรง ๆ จะเอารัฐบาลหรือ เอาพันธมิตรฯ ทำให้ผู้รู้หลายคนรวมทั้ง กกต.ออกมาบอกว่าจะทำประชามติอย่างนั้นไม่ได้เพราะไปขัดรัฐธรรมนูญมาตรา 165 สุดท้ายที่ประชุมวุฒิสภาก็มีมติรับหลักการในวาระแรกไปก่อน ด้วยคะแนนท่วมท้น 119 ต่อ 5 คะแนน และตั้งกรรมาธิการศึกษาเรื่องดังกล่าว ใช้เวลาอีกเท่าไหร่ เพื่อซื้อเวลารัฐบาลอยู่ต่อบริหารบ้านเมืองและหวังที่จะให้พันธมิตรฯถอดใจเลิกประท้วงได้ยิ่งดี ด้านพันธมิตรฯ ตั้งธงว่าต้องประท้วงขับไล่รัฐบาลนี้ให้สำเร็จ หาประเด็นโจมตีวันต่อวัน เชิญชวนประชาชน นิสิต นักศึกษา นักเรียน ให้เ้ข้าร่วมชุมนุมอย่างกว้างขวาง และค่อนข้างจะได้ผล ผู้ชุมนุมหลายองค์กรมาเพิ่มมากขึ้น ประเทศไทยต้องบอบช้ำไปอีกนานเท่าไหร่.....////.......


นส.ธันย์ชนก ทรงนาศึก sec.02
ID:5131601345
สำนักวิชานิติศาสตร์