วันจันทร์ที่ 8 กันยายน พ.ศ. 2551

สำรวจ"ต้นทุนยุติธรรม"9ตุลาการศาลรธน.


คณะตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ ยุค "ตุลาการภิวัตน์" มีทั้งหมด 9 คน ถือกำเนิดขึ้นตามรัฐธรรมนูญปี 2550 หลังเหตุการณ์รัฐประหาร 19 กันยายน 2549

แบ่งกันตามสาย เพื่อให้สามารถอำนวยความยุติธรรมได้สูงสุด ทั้งผู้ทรงคุณวุฒิสาขานิติศาสตร์ และสาขารัฐศาสตร์ ที่ผ่านการพิจารณาโดยคณะกรรมการสรรหา

สาขานิติศาสตร์ คนแรกได้แก่ นายจรัญ ภักดีธนากุล ซึ่งเป็นที่รู้จักของผู้คนโดยทั่วไป ในฐานะเลขาธิการประธานศาลฎีกา ตั้งแต่ครั้ง 3 ศาล หรือที่เรียกกันว่า ตุลาการภิวัตน์ ร่วมกันแก้วิกฤติการเมือง หลังศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยให้การเลือกตั้งเมื่อ 2 เมษายน 2549 เป็นโมฆะ ก่อนจะถูกขอตัวมานั่งเก้าอี้ปลัดกระทรวงยุติธรรม หลังเหตุการณ์ยึดอำนาจจากรัฐบาลทักษิณ เมื่อ 19 กันยายน 2549

คนที่ 2 จากสาขานิติศาสตร์ นายวสันต์ สร้อยพิสุทธิ์ อดีตผู้พิพากษาอาวุโสในศาลอุทธรณ์ ภาค 4 เคยเข้าชิงตำแหน่ง 5 เสือในคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) และแสดงวิสัยทัศน์อย่างดุเดือด ตรงไปตรงมา โดยเฉพาะเหตุผลที่ไม่ยอมแจงบัญชีทรัพย์สินตามที่ ส.ว.ต้องการ และที่กลายเป็นข่าวโด่งดังก็คือ การเป็นพยานจำเลยในคดีที่ น.ต.ประสงค์ สุ่นศิริ ถูกยื่นฟ้องโดยตุลาการศาลรัฐธรรมนูญเสียงข้างมาก ในคดีซุกหุ้น พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร

ส่วนอีก 2 คนในสาขารัฐศาสตร์ นายสุพจน์ ไข่มุกด์ อดีตเอกอัครราชทูตสาธารณรัฐโปแลนด์ เคยเป็นที่ปรึกษากฎหมายของ คมช. คนสุดท้ายสาขารัฐศาสตร์ที่ผ่านการสรรหาคือ นายเฉลิมพล เอกอุรุ อดีตรองปลัดกระทรวงการต่างประเทศ

ส่วนตุลาการที่เหลืออีก 5 คน 3 คนแรกมาจากการคัดเลือกของที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกา โดยวิธีการลงคะแนนลับ ซึ่งคนแรกในสายนี้ก็คือ นายชัช ชลวร อดีตประธานแผนกคดีเยาวชนและครอบครัวในศาลฎีกา ซึ่งได้รับเลือกกันเองจากตุลาการให้ดำรงตำแหน่งประธานศาลรัฐธรรมนูญชุดนี้ ที่เหลืออีก 2 คน คือ นายนุรักษ์ มาประณีต อดีตผู้พิพากษาศาลฎีกา/ประธานแผนกคดีเยาวชนและครอบครัวในศาลอุทธรณ์ และนายบุญส่ง กุลบุปผา อดีตผู้พิพากษาศาลฎีกา และรองประธานศาลอุทธรณ์

ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ 2 คนสุดท้าย มาจากการคัดเลือกของที่ประชุมใหญ่ตุลาการศาลปกครองสูงสุด คนแรก คือ นายอุดมศักดิ์ นิติมนตรี อดีตตุลาการศาลปกครองสูงสุด/ผู้พิพากษาศาลฎีกา และรองประธานศาลอุทธรณ์ ส่วนคนสุดท้ายคือ นายจรูญ อินทจาร อดีตตุลาการศาลปกครองสูงสุด และผู้พิพากษาอาวุโสในศาลในศาลจังหวัดสมุทรปราการ แผนกคดีเยาวชนและครอบครัว

บอกได้คำเดียวว่า ทุกคนดังกล่าวมาทั้งหมดนี้ นอกจากเป็นผู้ที่มีต้นทุนทางสังคมสูงแล้ว ยังเป็นบุคคลที่ได้รับความเชื่อถือ ยอมรับ และเชื่อถือว่าสามารถทำหน้าที่อำนวยความยุติธรรมได้เป็นอย่างดี โดยเฉพาะในชั่วโมงที่สังคมไทยฝากความหวังไว้ว่า พวกเขาเหล่านี้จะเข้ามาช่วยคลี่คลายวิกฤติของชาติ ที่ไม่อาจจะหันหน้าไปพึ่งฝ่ายบริหารและนิติบัญญัติได้อีกต่อไป


ขอขอบคุณแหล่งข่าวจาก คมชัดลึก
เขียนโดย น.ส.พิมลกร แปงฟู ID : 5131601432 สำนักวิชานิติศาสตร์


1 ความคิดเห็น:

ไม่ระบุชื่อ กล่าวว่า...

สุดท้ายก็ไม่รอด ศาลไทยเก่งมากเลย
เมื่อขึ้งไปอยู๋ที่สูงจนคิดว่าเหยียบหัวคนอื่นได้มากๆๆๆ
แล้วจะทำอะไรก็ได้เสมอนั้น ไม่ใช่
สุดท้ายตกลงมาเหมือนเดิม
ต่ำกว่าเดิมที่เป็นอยู่รึเปล่า

น.ส. ศรัณยา กองพอด 5131601501 สาขาวิชานิติศาสตร์ sec02