วันอาทิตย์ที่ 7 กันยายน พ.ศ. 2551

จับตา!!ตุลาการพิฆาต? คำพิพากษาคดี2สำคัญ "สมัคร"เก้าอี้นายกฯกระเด็น



ถ้าศาลฎีกาไม่รับอุทธรณ์ของนายสมัคร ก็หมายความว่า นายสมัครต้องถูกจำคุกจริงทำให้ต้องพ้นตำแหน่งตามรัฐธรรมนูญ และไม่สามารถกลับมาเป็นนายกรัฐมนตรีหรือ ส.ส.ได้อีกหลังจากพ้นโทษไม่ถึง 5 ปี คราวนี้นายสมัครและคณะรัฐมนตรีจะถึงกาลอวสานอย่างแท้จริง แม้นายสมัคร สุนทรเวช นายกรัฐมนตรีจะมีอำนาจตามกฎหมายในฐานะมุขฝ่ายบริหาร แต่โดยสภาพความเป็นจริงแล้วนายสมัคร ถูกเปรียบเป็นเพียง"สัมภเวสี"ที่ต้องเร่ร่อนไปมา เพราะ นอจากทำเนียบรัฐบาลถูกกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยยึดครองแล้ว นายสมัครก็แทบไม่มีอำนาจในการบังคับบัญชาหน่วยงานหรือกลไกรัฐให้ทำงานตามคำสั่งได้เลย ประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินตามพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ.2548 ซึ่งประกาศใช้เมื่อวันที่ 2 กันยายนที่ผ่านมา มีค่าน้อยกว่ากระดาษชำระเสียอีก เพราะแทบไม่ผลใดๆในการบังคับใช้ ขณะที่กลุ่มพันธมิตรฯยังคงชุมนุมอยู่ในทำเนียบฯได้ตามปกติ ปรากฎการณ์ที่เกิดขึ้นบ่งบอกอย่างชัดเจนว่า รัฐบาลนายสมัครล้มเหลวอย่างสิ้นเชิงในการบริหารราชการแผ่นดินและโดยสภาพก็ไม่มีความเป็นรัฐบาลหลงเหลืออยู่แล้ว แต่นายสมัครและพรรคร่วมรัฐบาลก็ยังคงหลอกตัวเองว่า สามารถบริหารราชการแผ่นดินต่อไปได้และการดำรงอยู่ของตนเองเป็นการป้องกันและรักษาระบอบประชาธิปไตยไว้ ทั้งๆที่การอยู่ในตำแหน่งของนายสมัครเป็นหนทางนำบ้านเมืองสู่หายนะอย่างใหญ่หลวง แม้ฝ่ายต่างๆจะพยายามเสนอทางออกและเสนอมาตรการต่างๆมากมาย แต่ได้รับการปฏิเสธอย่างไม่ไยดี นายสมัครยังคงดื้อด้านเพื่อนั่งอยู่บนเก้าอี้นายกรัฐมนตรีให้นานที่สุดเมื่อไม่มีหนทางใดๆที่จะทำให้นายสมัครสละเก้าอี้ได้ ก็คงต้องให้ตุลาการใช้อำนาจแห่งกฎหมายเป็นผู้ชี้ชะตาเนื่องนายสมัครมีคดีความในศาลซึ่งคาดว่า จะมีคำพิพากษาภายในเดือนกันยายนหรือต้นเดือนตุลาคมถึง 2 คดี คดีแรก นายเรืองไกร ลีกิจวัฒนา สมาชิกวุฒิสภา(ส.ว.)ระบบสรรหาแฃะคณะ ส.ว.รวมทั้งคณะกรรมการการเลือกตั้ง(กกต.)ยื่นคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญว่า นายสมัคร มีการกระทำต้องห้ามตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 267 (ห้ามนายกรัฐมนตรีดำรงตำแหน่งใดๆในห้างหุ้นส่วน บริษัท หรือองค์การที่ดำเนินธุรกิจโดยมุ่งหาผลกำไรหรือรายได้มาแบ่งปันกันหรือเป็นลูกจ้างของบุคคลใดก็มิได้วย)ซึ่งจะทำให้ความเป็นรัฐมนตรี(นายกรัฐมนตรี)สิ้นสุดลงตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 182(7) เหตุที่นายเรืองไกรและ กกต.ยื่นคำร้องดังกล่าว เพราะหลังจากที่นายสมัครได้รับการดปรดเกล้าฯแต่งตั้งเป็นนายกรัฐมนตรีแล้ว นายสมัคร ยังคงเป็นพิธีกรในรายการ"ชิมไปบ่นไป"และรายการ"ยกโขยงหกโมงเช้า"ของบริษัทเฟซ มีเดียซึ่งเข้าข่ายเป็นลูกจ้างของบุคคลใด เนื่องจากนายสมัครเป็นพิธีกรในรายการดังกล่าวมาหลายปีตั้งแต่ก่อนรับตำแหน่งนายกฯและยังคงเป็นพิธีกรต่อเนื่องหลังจากรับตำแหน่งนายกฯแล้ว ในการไต่สวนของศาลรัฐธรรมนูญ ทางบริษัทยอมรับว่า ได้จ่ายเงินให้แก่นายสมัครตอนละ 5,000 บาทโดยอ้างว่า เป็นค่าน้ำมันรถ ซึ่งตุลาการศาลรัฐธรรมนูญบางคนซักถามว่า ทำมไมค่าน้ำมันรถจึงแพงจัง ซึ่งทางบริษัทอ้างว่า เป็นค่าอาหารที่นายสมัครซื้อมาทำในรายการด้วย โดยเป็นการจ่ายแบบเหมาจ่าย ในวันจันทร์ที่ 8 กันยายน ศาลรัฐธรรมนูญได้นัดไต่สวนนายสมัคร และกรรมการผู้จัดการบริษัท เฟซ มีเดีย เป็นครั้งสุดท้ายและคาดว่า จะนัดฟังคำวินิจฉัยได้ภายในเดือนกันยายนนี้ ถ้าศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่า นายสมัครมีการกระทำต้องห้ามตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 267 จริง นายสมัครต้องพ้นจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรีทันทีและจะทำให้คณะรัฐมนตรีทั้งคณะต้องสิ้นสุดลงด้วย อย่างไรก็ตาม การพ้นจากตำแหน่งนายกฯตามรัฐธรรมนูญมาตรา 182(7) ไม่มีบทลงโทษใดๆ เช่น การเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งหรือการห้ามดำรงตำแหน่งทางการเมือง ดังนั้น ส.ส.พรรคพลังประชาชนและ ส.ส.พรรคร่วมรัฐบาล ยังสามารถลงมติเลือกนายสมัครกลับเข้ามาเป็นนายกรัฐมนตรีได้อีกและนายสมัครต้องจัดตั้งคณะรัฐมนตรีชุดใหม่ขึ้นมาบริหารประเทศ แต่ในทางการเมืองแล้ว อาจมีปัจจัยอื่นที่ทำให้ ส.ส.พรรคพลังประชาชนและพรรคร่วมรัฐบาลไม่เลือกนายสมัครกลับเข้าดำรงตำแหน่งอีก คดีที่สอง คดีที่นายสมัครและนายดุสิต ศิริวรรณ อดีตรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี คู่หูตกเป็นจำเลยในข้อหาหมิ่นประมาทนายสามารถ ราชพลสิทธิ์ อดีตรองผู้ว่าราชการ กทม.ซึ่งศาลอาญาพิพากษาเมื่อวันที่ 12 เมษายน 2550 ให้จำคุกจำเลยทั้งสอง รวม 4 กระทง กระทงละ 6 เดือน รวมจำคุกคนละ 24 เดือนหรือ 2 ปี โดยไม่รอลงอาญา แต่นายสมัครและนายดุสิตยื่นอุทธรณ์ซึ่งศาลอาญานัดอ่านคำพิพากษาของศาลอุทธรณ์ในวันที่ 25 กันยายนนี้ อย่างไรก็ตามา นายสมัครอ้างว่า ต้องเดินทางไปประชุมสหประชาชาติที่นิวยอร์ค สหรัฐอเมริกา จะยื่นคำร้องต่อศาลขอเลื่อนอ่านคำพิพากษา แต่จากข้อเท็จจริงในสภาพบ้านเมืองกำลังวิกฤต เกิดการเผชิญหน้า รัฐบาลล้มเหลวในการบริหารราชการแผ่นดิน นายสมัครยังจะเดินทางไปประชุมนิวยอร์คอีกหรือ หรือเป็นเพียงข้ออ้างเพื่อประวิงเวลา ในการอ่านคำพิพากษาเท่านั้น เพราะถ้าศาลอุทธรณ์พิพากษายืนตามศาลชั้นต้นให้จำคุกนายสมัคร 2 ปี โอกาสที่นายสมัคร จะหลุดจากเก้าอี้นายกฯมีอยู่สูง แม้นายสมัครจะยืนยันว่า สามารถที่จะอุทธรณ์ต่อศาลฎีกาได้ ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 219 บัญญัติว่า ในคดีที่ศาลชั้นต้นพิพากษาให้ลงโทษจำคุกจำเลยไม่เกิน 2 ปี หรือปรับไม่เกิน 40,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ ถ้าศาลอุทธรณ์ยังคงลงโทษจำเลยไม่เกินกว่ากำหนดที่ว่ามานี้ ห้ามมิให้คู่ความฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง... นั่นหมายความว่า นายสมัครสามารถอุทธรณ์ได้เฉพาะข้อกฎหมายซึ่งเป็นการพิจารณาว่า ข้อความที่นายสมัครกล่าวหานายสมารถ ราชพลสิทธิ์ว่า เป็นการหมิ่นประมาทหรือไม่เท่านั้น อย่างไรก็ตาม ที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกาได้ออกระเบียบที่ประชุมใหญ่ลงวันที่ 15 พฤษภาคม 2551 ว่า ศาลฎีกาสามารถที่จะไม่รับคดีที่อุทธรณ์หรือฎีกาได้ ถ้าเห็นว่า ไม่เป็นสาระอันควรแก่แก่การพิจารณาไว้ในการพิจารณาพิพากษา(ระเบียบที่ประชุมใหญ่ว่าด้วยการไม่รับคดีซึ่งข้อกฎหมายหรือข้อเท็จจริงที่อุทธรณ์หรือฎีกาจะไม่เป็นสาระอันควรแก่การพิจารณาไว้พิจารณาพิพากษา พ.ศ.2551) ดังนั้น ถ้าดูจากคดีหมิ่นประมาทของนายสมัครและนายดุสิตแล้ว การพิจารณาข้อกฎหมายว่า ข้อความที่นายสมัครและนายดุสิตกล่าวเป็นการหมิ่นประมาทหรือไม่ เป็นข้อกฎหมายที่ไม่ยุ่งยากซับซ้อน การที่ศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์พิพากษายืนถึง 2 ศาล อาจเข้าเงื่อนไขที่ศาลฎีกาอาจไไม่รับคดีไว้พิจารณา เช่น เป็นข้อกฎหมายซึ่งศาลล่างได้วินิจฉัยถูกต้องแล้ว และไม่มีเหตุที่จะเปลี่ยนแปลงคำวินิจฉัยของศาลล่าง(ข้อ 4(1) 1.3) หรือเป็นข้อกำหมายที่ไม่ยุ่งยากและการวินิจฉัยข้อกฎหมายดังกล่าว จะไม่มีผลเปลี่ยนแปลงคำวินิจฉัยของศาลล่าง(ข้อ 4(1)1.2) ถ้าศาลฎีกาไม่รับอุทธรณ์หรือฎีกาของนายสมัคร ก็หมายความว่า นายสมัครต้องถูกจำคุกจริงทำให้ต้องพ้นตำแหน่งตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 182(3)และ มาตรา 174 และไม่สามารถกลับมาเป็นนายกรัฐมนตรีหรือ ส.ส.ได้อีกหลังจากพ้นโทษไม่ถึง 5 ปี คราวนี้นายสมัครและคณะรัฐมนตรีจะถึงกาลอวสานอย่างแท้จริง สำหรับคดีหมิ่นประมาทที่นายสมัครและนายดุสิตตกเป็นจำเลยนั้น มีรายละเอียดตามคำพิพากษาศาลอาญา ดังนี้ ตามฟ้องโจทก์(นายสามารถ ราชพลสิทธิ์)ระบุความผิดจำเลย สรุปว่า ระหว่างวันที่ 12-19 มกราคม 2549 จำเลยทั้งสองซึ่งเป็นผู้ดำเนินรายการ เช้าวันนี้ที่ช่อง 5 และรายการ สมัคร-ดุสิต คิดตามวัน ทางช่องโมเดิร์นไนน์ทีวี โดยวันที่ 12 มกราคม 2549 จำเลยทั้งสองกล่าวถ้อยคำกล่าวหาว่า มีผู้บริหารกรุงเทพมหานครบางคนออกรถบีเอ็มฯซีรีส์ โดยใช้ชื่อภรรยาเป็นเจ้าของ ที่แท้มีผู้รับเหมาซื้อให้ผ่านทั้งสองรายการในวันเดียวกัน ต่อมาวันที่ 13 มกราคม นายดุสิต จำเลยที่ 2 กล่าวผ่านรายการ สมัคร-ดุสิต คิดตามวันว่าโครงการประมูลของกรุงเทพมหานคร 10 โครงการมันกินกัน 12-13% เกือบ 3,000 ล้านบาท โดยมีจำเลยที่ 1 (นายสมัคร) กล่าวสนับสนุน นอกจากนี้ในวันที่ 17 มกราคม จำเลยที่ 2 (นายดุสิต)กล่าวผ่านรายการ เช้าวันนี้ที่ช่อง 5 ว่า ขออ่านจากข่าวนะ นายสามารถชี้แจงว่า ไม่เคยสั่งการให้ผู้ใต้บังคับบัญชาล็อกสเป๊ก ขอถามคุณสมัครหน่อยว่า ใครจะกล้ารับว่า ตัวเองเป็นคนสั่ง และข้อความอื่นๆ ซึ่งล้วนเป็นเท็จทั้งสิ้น เหตุเกิดที่แขวงและเขตห้วยขวาง และที่อื่นเกี่ยวพันกัน การกระทำของจำเลยทั้งสอง ทำให้ประชาชนที่ชมรายการดังกล่าวเข้าใจผิดคิดว่า โจทก์เป็นคนไม่ดี เรียกรับทรัพย์สินเพื่อประโยชน์ของตัวเอง ต้องเสื่อมเสียชื่อเสียง จึงนำคดีมาฟ้อง ขอให้ศาลพิพากษาลงโทษจำเลยตามความผิดด้วย จำเลยทั้งสองให้การปฏิเสธ ทำนองเดียวกันว่า ไม่มีเจตนาหมิ่นประมาทใส่ความโจทก์ให้ได้รับความเสียหาย เพียงแต่กล่าวไปตามข้อเท็จจริงที่ทราบข้อมูลมา แต่ไม่ได้มีการตรวจสอบข้อเท็จจริง รวมทั้งการดำเนินรายการก็เป็นการระดมความคิดเห็นร่วมกับประชาชนให้ได้รับทราบ ศาลพิเคราะห์คำเบิกความและพยานหลักฐานทั้งสองฝ่ายแล้ว เห็นว่า ถ้อยคำที่บ่งบอกว่า ผู้บริหารระดับสูงของกรุงเทพมหานครมีพฤติกรรมไม่ชอบด้วยกฎหมาย อันเป็นความผิดทางอาญา โดยมีจำเลยที่ 1 กล่าวสนับสนุนว่า เป็นความจริง เมื่อฟังประกอบกันแล้ว ทำให้เห็นได้ชัดว่า เป็นผู้บริหารกรุงเทพมหานครคือโจทก์นั่นเอง เพราะขณะนั้นภรรยาโจทก์ขับรถยนต์ยี่ห้อบีเอ็มดับเบิลยู ป้ายแดงได้ 2 เดือน ทั้งยังมีการกล่าวย้ำว่า มีการใช้ตำแหน่งแสวงหาผลประโยชน์แม้ไม่ได้ระบุชื่อก็ตาม ทั้งที่ความจริงแล้ว โจทก์มีหน้าที่รับผิดชอบงานด้านโยธา ดูแลเรื่องการก่อสร้างถนน สะพานข้ามแยก อุโมงค์ทางลอดต่างๆ นอกจากนี้โจทก์ยังมี พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง รองอธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษหรือดีเอสไอ เบิกความเกี่ยวกับการตรวจสอบทางทุจริตของโจทก์นั้น ชุดสืบสวนไม่ได้ตรวจสอบเรื่องการซื้อรถยนต์บีเอ็มดับเบิลยูคันดังกล่าว เพราะเป็นทรัพย์สินที่โจทก์ซื้อด้วยเงินตัวเอง โดยมีการนำสำเนาบัญชีของธนาคารกรุงเทพฯ สำเนาเช็คเงินสด มาแสดงเป็นหลักฐานการชำระเงิน การกระทำของจำเลยทั้งสองเป็นการเสนอข่าวให้ประชาชนเชื่อว่า การก่อสร้างของกรุงเทพมหานครมีเงื่อนงำ ทุจริต ซึ่งเป็นการหมิ่นประมาทใส่ความโจทก์ให้ได้รับความเสียหาย ถูกดูหมิ่นเกลียดชังจริง ข้อต่อสู้ของจำเลยทั้งสองฟังไม่ขึ้น ทั้งนี้จำเลยที่ 1 (นายสมัคร)เคยกระทำผิดฐานหมิ่นประมาทมาแล้วหลายครั้ง โดยศาลปรานี ให้รอการลงโทษไว้ เพื่อให้ปรับตัวเป็นคนดี แต่ จำเลยที่ 1 กลับกระทำผิดซ้ำในความผิดเดิมอีก พิพากษาให้จำคุกจำเลยทั้งสอง รวม 4 กระทง กระทงละ 6 เดือน รวมจำคุกคนละ 24 เดือน โดยไม่รอลงอาญา และให้โฆษณาคำพิพากษาย่อในหนังสือพิมพ์ติดต่อกันเป็นเวลา 3 วัน โดยจำเลยเป็นผู้ออกค่าใช้จ่าย

ขอขอบคุณเนื้อหาข่าว คุณภาพดี โดย: หนังสือพิมพ์มติชน
นางสาวพนิดา เอกทัตร์ 5131601410 สำนักวิชานิติศาตร์ สาขาวิชานิติศาตร์

2 ความคิดเห็น:

ไม่ระบุชื่อ กล่าวว่า...

ไม่ว่าผลจะออกมาอย่างไรก็ตามแต่
ขอให้ทุกคนรับการตัดสินของศาล
เพื่อความสงบของประเทศชาติ

ไม่ระบุชื่อ กล่าวว่า...

ไม่ว่าผลจะออกมาอย่างไรก็ตามแต่
ขอให้ทุกคนรับการตัดสินของศาล
เพื่อความสงบของประเทศชาติ


น.ส ธันย์ชนก ทรงนาศึก
ID:5131601345 sec.02
สำนักวิชานิติศาตร์